การผ่าตัดแบบสามมิติ ในการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (MIS 3D)
Feb 18 , 2016 3 pm


         สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านที่ติดตามอ่านเรื่องสัพเพเหระเก่ี่ยวกับการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็กหรือที่เรียกย่อๆในภาษาอังกฤษว่า MIS (Minimal Invasive Surgery) ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นตามลำดับเพราะเป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดี เจ็บแผลและเสียเลือดน้อย มีการฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้รวดเร็ว และยังมีแผลเป็นที่เล็กมากหรือไม่มีเลยเพราะถูกซ่อนเอาไว้ในตำแหน่งที่มองไม่เห็น 


         การผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็กหรือ MIS ในทางสูตินรีเวชฯนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Laparoscopic surgery ซึ่งเป็นการผ่าตัดเข้าไปในช่องท้อง ตัวอย่างการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) การผ่าตัดถุงนำ้รังไข่ (Ovarian cyst) หรือแม้แต่การ ผ่าตัดมะเร็งทางนรีเวชฯบางชนิดเช่นมะเร็งเย่ือบุโพรงมดลูก เป็นต้น แผลที่หน้าท้องจะเป็น ช่องเล็กๆหรือท่่ีเรียกภาษาอังกฤษว่า Port โดยขนาดของ Port อาจมีขนาดแตกต่างกัน ออกไป แต่ที่นิยมมักมีขนาดประมาณ 0.5 - 1.0 เซ็นติเมตร และอาจมีเพียงหนึ่ง Port หรือ มากกว่าขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ตัวอย่าง Port ตามที่แสดงในรูป  

 



         ในการผ่าตัดที่ผ่านมา แพทย์มักดูภาพที่กำลังจะผ่าตัดผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์เหมือนการดูโทรทัศน์ตามบ้านซึ่งมักเป็น ระบบสองมิติ (2D) ซึ่งแม้จะมีภาพคมชัด แต่จะไม่เห็นความลึก (Depth) ของบริเวณที่จะผ่าตัดทำให้การกะระยะในการผ่าตัด ทำได้ยากและต้องใช้ประสบการณ์เข้ามาช่วยค่อนข้างมาก ซึ่งในปัจจุบันมีการนำ เทคโนโลยี่แบบ สามมิติ (Three Dimensions) หรือ 3D เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการมองไม่เห็นความลึกของบริเวณที่จะทำผ่าตัด ทำให้สามารถเห็นความลึกได้ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ทำให้การผ่าตัด MIS ที่ดีอยู่แล้วดียิ่งขึ้น โดยสามารถทำได้ รวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพสูง และมีภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าในอดีตท่ีผ่านมา การผ่าตัดแบบ 3D แพทย์จะสวมแว่นสามมิติดังในรูป 






         เมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา หมอมีผู้ป่วยมารับการรักษาด้วยผ่าตัดเพราะมีภาวะปวดท้องน้อย ตรวจภายในพบพังผืดในอุ้งเชิงกรานและเนื้องอกรังไข่ ได้อธิบายรายละเอียดให้ผู้ป่วยได้รับทราบและแนะนำว่าควรรักษาต่อด้วยการผ่าตัดเลาะพังผืดรวมทั้งตัดมดลูกและปีกมดลูกและควรทำโดยการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (MIS) ผู้ป่วยและสามีเข้าใจและเห็นด้วยกับการแนวทางการรักษาที่ได้แนะนำไป หมอและทีมจึงได้ทำการผ่าตัดผ่านกล้องโดยเจาะหน้าท้องเป็นช่องเล็กๆ 3 ช่องหรือเรียกว่า 3 Ports น่ะครับ มีพอร์ทที่สะดือหนึ่งแห่งและที่ด้านข้างของช่องท้องส่วนล่างอีกข้างละหนึ่งพอร์ทคล้ายที่เห็นในรูปด้านบน

 

         ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการผ่าตัดต่างจากการผ่าตัดแผลเล็กโดยทั่วไปคือเป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องบันทึกภาพและจอแสดงผลแบบสามมิติหรือ 3D (Three Dimension) ซึ่งก่อนหน้านี้หมอมักจะผ่าตัดผ่านกล้องโดยกล้องบันทึกภาพและจอแสดงผลแบบสองมิติ หรือ 2D (Two Dimension) ในระยะประมาณเกือบปีที่ผ่านมามีการนำระบบสามมิติมาใช้ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่ ที่หมอเป็นแพทย์ประจำอยู่ ประเมินจากตัวหมอเองและทีมผ่าตัดพบว่าการผ่าตัดประสบผลสำเร็จดีขึ้นมาก ที่ว่าดีขึ้นมากหมอหมายถึง ทั้งเร็วขึ้นและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเย็บแผล


         อย่างที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่าความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่าง 2D และ 3D ก็คือเรื่อง ความลึก (Depth) ของภาพที่เห็นครับ ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกถึง ตอนที่ท่านดูหนังสามมิติอย่างเช่นเรื่องอวตารหรืออีกหลายๆเรื่องสิครับ ท่านจะเห็นความลึกของภาพเหมือนเห็นของจริง อีกตัวอย่างของความแตกต่างระหว่าง 2D และ 3D คือการเดินลงบันได้โดยหลับตาซะหนึ่งข้างเทียบกับการลืมตาสองข้างแล้วเดินลง บันได ท่านจะพบว่าเสี่ยงต่อการตกบันไดมากครับถ้าใช้ตาข้างเดียวเดินลงบันไดเพราะท่านจะเห็นภาพเพียงสองมิติหรือ 2D ท่านจะไม่เห็นความลึกและไม่แน่ใจว่าจะยื่นเท้าลงไปลึกแค่ไหนในการก้าวลงบันไดขั้นต่อไป พอเปลี่ยนเป็นลืมดูทั้งสองข้าง ท่านจะพบว่าท่านจะเกิดความมั่นใจว่าและสามารถก้าวลงบันไดขั้นต่อๆไปได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย การผ่าตัด MIS โดยผ่านกล้องและจอแบบ 3D ก็ทำนองนั้นแหละครับ 
 

         การผ่าตัดผู้ป่วยรายที่ยกตัวอย่างมาประสบความสำเร็จอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปีกมดลูกด้านซ้ายที่มีเนื้องอกรังไข่พบว่ามีพังผืดหนาและเหนียวมากยึดติดระหว่างลำใส้ใหญ่ เนื้องอกรังไข่และมดลูก ทำให้ต้องเลาะลำใส้ใหญ่ออกจากก้อนเนื้องอกรังไข่ และมดลูกก่อนการตัดเนื้องอกและมดลูก ซึ่งการเลาะมีอันตรายต่อการบาดเจ็บต่อลำใส้สูง แต่เพราะสามารถเห็นความลึกของ อวัยวะต่างๆได้ชัดเจนจึงไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดคนไข้รายนี้ ตอนเย็นหมอไปเยี่ยมคนไข้พบว่าคนไข้ปวดแผลเพียงเล็กน้อย เริ่มจิบนำ้ได้ เอนตัวขึ้นมานั่งคุยกับญาติได้ และที่สำคัญคือยิ้มให้หมอได้ ซึ่งโดยทั่วๆไปถ้าอาการดีขึ้นเร็วแบบนี้ก็คงกลับบ้านได้ในอีกสองสามวัน 


         เรื่องที่หมอคุยในบล็อกวันนี้ก็เป็นเพียงจุดเล็กๆน้อยๆเรื่องการ ผ่าตัดแบบสามมิติ (3D) ในการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (MIS) ซึ่งอาจเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา แต่หมอเองเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ท่านผู้อ่านอาจได้ยินหรือถูกถามจากแพทย์ผู้รักษาในกรณีที่ท่านเองหรือญาติของท่าน ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแบบ MIS ว่าจะเลือกผ่าตัดผ่านกล้อง แบบ 2D หรือ 3D ถ้าถูกถามท่านผู้อ่านจะได้คุ้นกับคำนี้เอาไว้บ้าง ประเด็นเรื่อง 3D ที่นำมาใช้ในการผ่าตัดทางการแพทย์ยังมีอีกหลายประเด็นครับ ปัจจุบันก็มีการคุยกันเรื่องการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์หรือที่เรียกว่า Robotic surgery อยู่บ่อยๆ (ตัวอย่างในรูปด้านล่าง) ตัวหมอเองคิดว่าการผ่าตัดแบบ 3D จะเป็นคู่แข่งของการผ่าตัดแบบหุ่นยนต์ซึ่งมีราคาสูงมากได้ ในระดับหนึ่งทีเดียวละครับ



                              

         ในยุคโลกาภิวัฒน์ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับหมอนะครับว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเร็วมากๆ แค่ยืนอยู่เฉยๆก็เหมือนเดินถอยหลังซะแล้ว การแพทย์ก็เช่นเดียวกันครับ แค่ไม่ติดตามข่าวสารเพียงไม่นานก็อาจตามไม่ทันคนอื่นๆแล้ว และในปัจจุบัน ประชาชนก็มีความรู้เยอะเพราะหาความรู้ได้ไม่ยากจากอาจารย์กู๋หรืออาจารย์กูเกิ้ล (จริงไม๊ครับ?) ข้อดีคือหาความรู้ได้ง่าย แต่ข้อเสียคือไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลไหนดีเพราะอาจมีข้อมูลในเรื่องเดียวกันที่แตกต่างกันอย่างมาก ที่หมอเขียนมาคุยกัน เรื่องการผ่าตัดโดยอาศัยเทคโลยีใหม่ๆหมอไม่ได้หมายความว่าของเก่าไม่ดีนะครับ อยากจะบอกเพียงว่าของใหม่ได้เปรียบเพราะใช้ของเก่าเป็นพื้นฐานแล้วพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นกว่าของเก่า อาจแค่ดีกับดีกว่าเท่านั้นน่ะครับไม่ใช่ดีกับไม่ดี เราทุกคนมีสิทธิเลือกนะครับ ว่าจะเลือกแบบไหน ความเห็นแบบนี้หมอว่าน่าจะประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆอย่างที่เราต้องเลือกในชีวิตในโลกยุคดิจิตอลนี้ได้นะครับ







ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขนะครับ
รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่